วันพฤหัสบดีที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2557

1.4 การเรียนรู้ขุมทรัพย์ในตน (Learning: The Treasure Within)

สี่เสาหลักทางการศึกษา
องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก (UNESCO) ได้ศึกษาแนวทางการจัดการศึกษาสำหรับศตวรรษที่ 21 โดยจัดให้มีการประชุมนานาชาติ เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ระหว่าลกลุ่มคนต่างๆ ทั่วโลก จนกระทั่งได้ข้อสรุปแนวทางการจัดการศึกษาใน ศตวรรษที่ 21 โดยคณะกรรมาธิการนานาชาติว่าด้วยการศึกษาในศตวรรษที่ 21 จำนวน 15 ท่าน เป็นผู้จัดทำและตั้งชื่อรายงานว่า ว่า “Learning: The Treasure Within” แปลว่า “การเรียนรู้ ขุมทรัพย์ในตน” โดยมีสาระสำคัญกล่าวถึง “สี่เสาหลักทางการศึกษา” เป็นหลักการจัดการศึกษาในศตวรรษที่ 21 ประกอบด้วยการเรียนรู้ 4 ลักษณะ ได้แก่
1. การเรียนเพื่อรู้ (Learning to know)
2. การเรียนรู้เพื่อปฏิบัติได้จริง (Learning to do)
3. การเรียนรู้เพื่อที่จะอยู่ร่วมกัน (Learning to Live Together)      
4. การเรียนรู้เพื่อชีวิต (Learning to Be)

การเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ยึดแนวทางการเรียนรู้ 4 แบบ ที่เป็นการเรียนรู้เพื่อชีวิต มุ่งจัดการ
ศึกษาให้กับผู้เรียนสามารถดารงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีคุณภาพ ดังนี้
1.การเรียนเพื่อรู้ หมายถึง การศึกษาที่มุ่งพัฒนากระบวนการคิด กระบวนการเรียนรู้
การแสวงหาความรู้และวิธีการเรียนรู้ของผู้เรียน เพื่อให้สามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ตลอดชีวิต
กระบวนการเรียนรู้เน้นการฝึกสติ สมาธิ ความจำ ความคิด ผสมผสานความรู้ทั่วไปที่กว้างขวางเพียงพอเข้ากับโอกาสที่จะศึกษาบางวิชาอย่างละเอียดลึกซึ้ง การเรียนเพื่อรู้หมายรวมถึง การฝึกฝนในวิธีเรียนรู้เพื่อจะได้ตักตวงประโยชน์จากการศึกษาไปจนตลอดชีวิต

2.การเรียนรู้เพื่อปฏิบัติได้จริง หมายถึง การศึกษาที่มุ่งพัฒนาความสามารถและความชำนาญ
รวมทั้งสมรรถนะทางด้านวิชาชีพ สามารถปฏิบัติงานเป็นหมู่คณะ ปรับประยุกต์องค์ความรู้ไปสู่การปฏิบัติงานและอาชีพ ได้อย่างเหมาะสม กระบวนการเรียนการสอนบูรณาการระหว่างความรู้ ภาคทฤษฎีและการฝึกปฏิบัติงานที่เน้นประสบการณ์ต่างๆ ทางสังคม สามารถรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ และปฏิบัติงานเป็นหมู่คณะ เป็นการเรียนรู้โดยอาศัยประสบการณ์ต่างๆ ทางสังคมและในการประกอบอาชีพ ซึ่งอาจเป็นการเรียนรู้นอกระบบโรงเรียน ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากสภาพในท้องถิ่นหรือประเทศนั้นๆ หรืออาจเป็นการเรียนรู้ในระบบโรงเรียน โดยใช้หลักสูตรซึ่งประกอบด้วยการเรียนในภาคทฤษฎีสลับกับการเรียนฝึกปฏิบัติงาน

3. การเรียนรู้เพื่อที่จะอยู่ร่วมกัน หมายถึง การศึกษาที่มุ่งให้ผู้เรียนสามารถดำรงชีวิตอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมพหุวัฒนธรรมได้อย่างมีความสุข มีความตระหนักในการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน การแก้ปัญหาการจัดการความขัดแย้งด้วยสันติวิธี มีความเคารพสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และเข้าใจความหลากหลายทางด้านวัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ ของแต่ละบุคคลในสังคม สอนให้เข้าใจผู้อื่นและตระหนักดีว่า มนุษย์เราจะต้องพึ่งพาอาศัยกัน ดำเนินโครงการร่วมกันและเรียนรู้วิธีแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้งต่างๆ โดยชี้ให้เห็นว่าความหลากหลาย ความเข้าใจอันดีต่อกัน และสันติภาพนั้นล้ำค่าและคู่ควรแก่การหวงแหน

4.การเรียนรู้เพื่อชีวิต หมายถึง การศึกษาที่มุ่งพัฒนาผู้เรียนทุกด้านทั้งจิตใจและร่างกาย สติปัญญา ให้ความสำคัญกับจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ ภาษา และวัฒนธรรม เพื่อพัฒนาความเป็นมนุษย์
ที่สมบูรณ์ มีความรับผิดชอบต่อสังคมสิ่งแวดล้อม ศีลธรรม สามารถปรับตัว และปรับปรุงบุคลิกภาพของตน เข้าใจตนเองและผู้อื่น สามารถปรับปรุงบุคลิกภาพของตนให้ดีขึ้นดำเนินงานต่างๆ โดยอิสรเสรียิ่งขึ้น มีดุลยพินิจ และความรับผิดชอบต่อตนเองมากขึ้น ต้องไม่ละเลยศักยภาพในด้านใดด้านหนึ่งเด็ดขาด เช่น ความจำ การใช้เหตุผล ความซาบซึ้งในสุนทรียภาพ สมรรถนะทางร่างกาย และทักษะในด้านการสื่อสารกับผู้อื่น

ความสำคัญ
              สี่เสาหลักทางการศึกษามีความสำคัญในฐานะที่หัวใจของเป้าหมายและแนวทางการจัดการศึกษาทุกระดับ  ที่ผู้บริหารการศึกษา ผู้ปฏิบัติหน้าที่ทางการศึกษา และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายเช่น ชุมชน สังคม ที่มีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา ใช้เป็นกรอบการคิดและตัดสินใจ เพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมายพัฒนาคุณภาพผู้เรียนให้มีความรู้ความสามารถ การคิดเป็นระบบ มีจิตสาธารณะและคุณลักษณะอันพึงประสงค์ที่จำเป็นต่อการเรียนรู้และดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพและมีความสุข

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น